Dr.Noom MathLover

Dr.Noom MathLover

ปฏิทินสากล : การเปลี่ยนแปลงปฏิทินใหม่ที่ทำให้คนตะลึงทั้งสังคม

*ที่มาของปฏิทินเกรกอเรียน

ปฏิทินสุริยคติแบบเกรกอเรียน หรือ ปฏิทินเกรกอเรียน (Gregorian Calendar) เป็นปฏิทินที่พัฒนามาจากปฏิทินจูเลียน และถือได้ว่าเป็นปฏิทินที่นิยมใช้กันมากที่สุดในโลกปัจจุบัน ซึ่งรวมถึงประเทศไทยด้วย ทั้งนี้คนส่วนใหญ่เรียกชื่อง่ายๆ ว่าปฏิทินสากล

ในการสร้างปฏิทินสุริยคตินั้นมักจะพยายามปรับให้ปีปฏิทินตรงกับปีทางสุริยคติ หรือ ปีฤดูกาลดาราศาสตร์ หรือ 365.24219 วัน โดยปีของปฏิทินจูเลียนเท่ากับ 365.25 วัน ซึ่งในรอบ 400 ปีจะมีวันมากเกินไปถึง 3 วัน

ปฏิทินเกรกอเรียนได้ถูกนำมาใช้แก้ปัญหานี้โดยตรง โดยปรับสูตรคำนวณให้ทุก 400 ปีมีวันลดลง 3 วัน จึงทำให้ 1 ปีปฏิทินเกรกอเรียนเท่ากับ 365.2425 วัน ซึ่งใกล้เคียงกับปีสุริยคติมากยิ่งขึ้น

เราคำนวณได้ว่า ปฏิทินเกรกอเรียนจะผิดไปจากปีฤดูกาลเหลือเพียงปีละ
365.2425 – 365.24219 = 0.00031 วัน

ในปีที่มีวันที่ 29 กุมภาพันธ์ หรือมี 366 วัน เราจะเรียกว่า ปีอธิกสุรทิน (leap year) ส่วนปีที่ไม่มีวันที่ 29 กุมภาพันธ์ เราจะเรียกกว่า ปีปกติสุรทิน (common year)

* สูตรการหาปีที่มีวันที่ 29 กุมภาพันธ์

ในปฏิทินจูเลียน ปีที่มีวันที่ 29 กุมภาพันธ์ จะเป็นปี ค.ศ. ที่หารด้วย 4 ลงตัว

สำหรับวิธีการหาว่าปีใดมี 366 วันในปฏิทินเกรกอเรียนนั้น จะต่างจากปฏิทินจูเลียนเพียงเล็กน้อย นั่นคือ
1. สำหรับปี ค.ศ. ที่ไม่ลงท้ายด้วย 00 ถ้าปีใดหารด้วย 4 ลงตัว ปีนั้นมีวันที่ 29 กุมภาพันธ์
2. สำหรับปี ค.ศ. ที่ลงท้ายด้วย 00 ถ้าปีใดหารด้วย 400 ลงตัว ปีนั้นมีวันที่ 29 กุมภาพันธ์

สังเกตว่าในกรณีที่ลงท้ายด้วย 00 นั้นจะคิดเหมือนกับปฏิทินจูเลียนทุกประการ

จากตัวอย่างนี้เราจะได้ว่าในปฏิทินเกรกอเรียน ค.ศ. 1804 และ ค.ศ. 2000 จะที่มีวันที่ 29 กุมภาพันธ์ ส่วน ค.ศ. 1901 และ ค.ศ. 2100 จะไม่มีวันที่ 29 กุมภาพันธ์

มีข้อสังเกตว่าในปี ค.ศ. 2100 ในปฏิทินจูเลียนจะมีวันที่ 29 กุมภาพันธ์ ซึ่งต่างจากปฏิทินเกรกอเรีย

* การลบวันออกจากปฏิทิน

ในเดือนตุลาคม ค.ศ. 1582 พระสันตะปาปาเกรกอเรียนที่ 13 ได้เปลี่ยนปฏิทินจากระบบจูเลียนมาเป็นระบบเกรกอเรียน ซึ่งต่อมาได้เรียกชื่อตามท่านว่า ปฏิทินเกรกอเรียน

ทั้งนี้ได้พบว่า ตั้งแต่สถาปนาศาสนาคริสต์ในอาณาจักรโรมันในคริสต์ศตวรรษที่ 3 จนถึงปีที่ต้องการเปลี่ยนมาใช้ปฏิทินเกรกอเรียน ฤดูกาลได้คลาดเคลื่อนไปแล้ว 10 วัน หรือพูดง่ายๆ ว่ามีวันมากเกินไป 10 วัน

ศาสนจักรควรจะทำอย่างไรกับปัญหา 10 วันนี้ ทุกครั้งที่ผมบรรยายเรื่องนี้ คนที่ได้ยินครั้งแรกมักจะอึ้ง เพราะเป็นวิธีแก้ปัญหาที่คาดไม่ถึง

วิธีแก้คือ ได้ประกาศตัดวัน 10 วันออกจากปฏิทิน โดยลบวันที่ 5-14 ตุลาคม ค.ศ. 1582 ออกจากปฏิทินหลวงโรมัน ซึ่งทำให้ฤดูกาลกลับมาถูกต้องอีกครั้ง

อธิบายเพิ่มเติมได้ว่า ถ้าวันนี้เป็นวันที่ 4 ตุลาคม ค.ศ. 1582 พอตื่นเช้าขึ้นมาจะไม่ใช่วันที่ 5 ตุลาคม แต่จะเป็นวันที่ 15 ตุลาคม ค.ศ. 1582 ผมว่าคนยุคนั้นต้องรู้สึกตะลึงกับการเปลี่ยนแปลงนี้มากอย่างแน่นอน

ถ้าท่านเป็นคนในยุคนั้น ท่านจะคิดอย่างไรกับการเปลี่ยนแปลงนี้บ้างครับ

Dr.Noom MathLover
ดร.อติชาต เกตตะพันธุ์ (อ.หนุ่ม)
อาจารย์ประจำภาควิชาคณิตศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่

ปล. ท่านสามารถอ่านบทความเกี่ยวกับปฏิทินจูเลียนซึ่งเป็นจุดเริ่มต้นของปฏิทินสากลได้ที่http://on.fb.me/1YejVtc

Article Code: #DrNoom20150917, #DrNoomGregorianCalendar

* หากต้องการเห็นทุกโพสต์ของผมผ่านเฟสบุ๊ค โปรดกด Like + Get Notifications (แจ้งเตือน)

** หากต้องการรับข่าวสารทาง Line สมัครได้ที่ http://line.me/ti/p/%40pxo7429c ซึ่งจะไม่มีข้อจำกัดในการเห็นข้อความ

*** เอกสารอ้างอิง
– ลอย ชุนพงษ์ทอง, ปฏิทินไทยเชิงดาราศาสตร์ และคณิตศาสตร์, พิมพ์ครั้งที่ 1, รัฐยาการพิมพ์, พ.ศ. 2550
– สมัย ยอดอินทร์ และคณะ, งานวิจัยเชิงคุณภาพ เรื่องการเป็นหรือไม่เป็นปีอธิกมาสของปฏิทินจันทรคติไทย ปี พ.ศ. 2555, คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่, พ.ศ. 2555

ผศ.ดร. อติชาต เกตตะพันธุ์ หรือ ดร.หนุ่ม HIGH10 เป็นวิทยากรด้านการศึกษา และการพัฒนาตนเอง ระดับประเทศ ที่จัดฝึกอรมให้แก้ ครูอาจารย์ นักเรียนนักศึกษา ผู้ปกครอง องค์กร และบุคคลทั่วไปที่ต้องการพัฒนาตนเอง

3 Comments

    • ค่าสอนเท่าไร

      atichart Reply
  • ขอดูรายละเอียดเพิ่มเติมหน่อยครับ

    atichart Reply

Leave a Reply

Your email address will not be published.