สิ่งที่น่าสนใจในโครงการ

ดร.อติชาต เกตตะพันธุ์ และทีมงานวิจัย จากห้องปฏิบัติการวิจัยคณิตศาสตร์และวิทยาศาสตร์โบราณคดี คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ได้จัดทำโครงการบูรณาการคณิตศาสตร์และวิทยาศาสตร์ล้านนา โดยการสนับสนุนของแผนงานสร้างเสริมนโยบายสาธารณะที่ดี (แผนงาน นสธ.) ภายใต้การสนับสนุนของสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) โดยมีการสร้างกิจกรรมการเรียนรู้เกี่ยวกับภูมิปัญญาท้องถิ่นล้านนาผ่านองค์ความรู้ทางคณิตศาสตร์และวิทยาศาสตร์ พร้อมทั้งจัดทำ คู่มือครูกิจกรรมบูรณาการคณิตศาสตร์และวิทยาศาสตร์ล้านนา เพื่อให้ครูและผู้สนใจทั่วไปสามารถดาวน์โหลดเอกสารไปใช้ในการเรียนการสอนในโรงเรียนหรือจัดทำค่ายวิชาการได้ด้วยตนเอง ในทุกกิจกรรมนักเรียนจะรู้สึกสนุกและตื่นเต้นกับการเรียนรู้ผ่านการลงมือปฏิบัติจริง รวมทั้งยังได้ฝึกคิดวิเคราะห์ในประเด็นที่น่าสนใจอันหลากหลาย

 

ทีมวิจัยทั้งหมดในโครงการนี้เป็นอาจารย์ประจำของมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ประกอบด้วย ดร.อติชาต เกตตะพันธุ์ หัวหน้าโครงการฯ จากภาควิชาคณิตศาสตร์ คณะวิทยาศาสตร์ ดร.ศิริวรรณ เกตตะพันธุ์ จากภาควิชาเคมี คณะวิทยาศาสตร์ และอาจารย์สุรชัย จงจิตงาม จากภาควิชาศิลปะไทย คณะวิจิตรศิลป์ โดยเล็งเห็นถึงความสำคัญของการเรียนรู้เรื่องราวในท้องถิ่นแต่ละชุมชน ซึ่งจะทำให้ชุมชนเข้มแข็ง ทั้งด้านองค์ความรู้ ความภูมิใจในภูมิปัญญาของบรรรพบุรุษ และการเรียนรู้ของนักเรียนในเรื่องใกล้ตัวที่น่าสนใจผ่านกระบวนการทางวิทยาศาสตร์ จึงได้มีการสร้างกิจกรรมการเรียนรู้สำหรับนักเรียน ในการทำวิจัยได้มุ่งเน้นกลุ่มเป้าหมายไปที่นักเรียนระดับมัธยมศึกษาตอนต้น แต่หากได้ศึกษากิจกรรมแล้วจะเห็นว่าสามารถนำไปใช้กับนักเรียนนักศึกษาตั้งแต่ระดับชั้นประถมศึกษาไปจนถึงระดับมหาวิทยาลัยได้อีกด้วย โดยบางกิจกรรมสามารถนำไปใช้ได้ทันที และในบางกิจกรรมอาจจะปรับให้เหมาะกับผู้ร่วมกิจกรรมอีกเพียงเล็กน้อย

 

กิจกรรมทั้งหมดถือว่า เป็นนวัตกรรมทางการศึกษาเพราะเป็นกิจกรรมคิดค้นขึ้นมาใหม่สำหรับโครงการนี้โดยเฉพาะ โดยทุกกิจกรรมจะเน้นเกี่ยวกับภูมิปัญญาท้องถิ่นล้านนา พร้อมทั้งบูรณาการการเรียนรู้ผ่านองค์ความรู้ทางคณิตศาสตร์และวิทยาศาสตร์อย่างลงตัว นอกจากกิจกรรมจะทำให้นักเรียนเห็นคุณค่าเกี่ยวกับเรื่องราวในท้องถิ่นแล้ว ยังทำให้นักเรียนประทับใจและมีทัศนคติที่ดีต่อการเรียนคณิตศาสตร์และวิทยาศาสตร์มากยิ่งขึ้นเพราะเห็นว่าสามารถนำมาอธิบายเรื่องใกล้ตัวได้เป็นอย่างดี ทั้งนี้ในการจัดกิจกรรมจะเน้นให้นักเรียนได้ฝึกคิด สังเกต ตั้งสมมุติฐาน และทำการทดลองปฏิบัติด้วยตนเอง จึงทำให้นักเรียนได้ฝึกฝนกระบวนการทางวิทยาศาสตร์ไปพร้อมกันด้วย

 

กิจกรรมการเรียนรู้ที่จัดทำทั้งหมดมี 5 เรื่อง ได้แก่ กิจกรรมความลึกลับของพระธาตุหัวกลับ กิจกรรมคณิตศาสตร์กับการสร้างกำแพงเมืองเชียงใหม่ กิจกรรมศาสนสถานกับการสร้างปฏิทิน กิจกรรมนักปักษีน้อยไขปริศนานกในอุโมงค์ และกิจกรรมแกะรอยจิตรกรรมอย่างมืออาชีพ กิจกรรมที่น่าสนใจมากที่สุดกิจกรรมหนึ่งก็คือ กิจกรรมความลึกลับของพระธาตุหัวกลับ ซึ่งได้แนะนำนักเรียนให้รู้จักกับปรากฏการณ์ของพระธาตุหัวกลับที่พบในวัดที่มีพระธาตุหลายแห่งในจังหวัดลำปาง โดยเราสามารถมองเห็นเงาพระธาตุหัวกลับในห้องที่มืดหรือมีแสงน้อย ซึ่งมีคนจำนวนหนึ่งเชื่อว่า ปรากฏการณ์นี้เกิดมาจากปาฏิหาริย์ของพระธาตุ ในกิจกรรมนี้ นักเรียนจะได้เรียนรู้ผ่านกิจกรรมปฏิบัติการ เพื่อเรียนรู้ว่า วิทยาศาสตร์และคณิตศาสตร์สามารถอธิบายปรากฏการณ์นี้อย่างไร เราสามารถสร้างปรากฏการณ์ภาพหัวกลับได้เองหรือไม่ และเราจะนำเงาพระธาตุกลับหัวมาช่วยคำนวณหาความสูงของเจดีย์ได้หรือไม่

 

กิจกรรมอีกเรื่องหนึ่งซึ่งมีความโดดเด่นมากก็คือ กิจกรรมนักปักษีวิทยาน้อยไขปริศนานกในอุโมงค์ ในกิจกรรมนี้น้องนักเรียนจะได้เรียนรู้ว่าเราสามารถนำวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีสมัยใหม่มาช่วยศึกษาทางโบราณคดี ณ วัดอุโมงค์(สวนพุทธธรรม) จังหวัดเชียงใหม่ได้อย่างไร ซึ่งเราจะได้เห็นภาพที่มีสีสันสวยงามและสมจริงของภาพในอุโมงค์เมื่อเริ่มวาดเมื่อกว่า 500 ปีที่แล้ว รวมถึงการชมวีดีทัศน์ภาพเคลื่อนไหวสามมิติที่ทำให้เราเห็นว่า ถ้าเราไปเดินในอุโมงค์สมัยก่อนเราจะรู้สึกอย่างไร จากนั้นน้องๆ จะได้ฝึกฝนให้เป็นนักปักษีวิทยาน้อย โดยเรียนรู้วิธีการดูนกผ่านการใช้คู่มือดูนก แล้วนำเอาวิธีดูนกมาช่วยไขปริศนาว่าภาพวาดนกหลายชนิดที่พบในจิตรกรรมฝาผนังวัดอุโมงค์เป็นนกชนิดใดเพศใดกันแน่

สำหรับกิจกรรมทั้งหมดในโครงการวิจัยนี้ได้ผ่านการนำกิจกรรมไปทดสอบใช้จริงแล้วกับนักเรียนระดับมัธยมศึกษาตอนต้น โรงเรียนสันกำแพง จังหวัดเชียงใหม่ เด็กหญิงรัตติการณ์ วงศ์ตุ้ย กล่าวว่า “ประทับใจที่ได้มาค่ายนี้ เพราะได้ความรู้ที่ไม่เคยรู้มาก่อน เช่น การสร้างกำแพงเมืองเชียงใหม่ ว่ามีหลักการอย่างไร และได้รู้ถึงความมหัศจรรย์ของศาสนสถานกับการสร้างปฏิทิน และชอบการไขปริศนานกวัดอุโมงค์ ที่ได้รู้ถึงการค้นหาศาสนสถานที่ทรงคุณค่าที่สุดในภาคเหนือ ประทับใจมากค่ะ” ในขณะที่เด็กหญิงกวิณนา ตาสุรินทร์ กล่าวว่า “การเข้าค่ายวิชาการในครั้งนี้ ทำให้ได้รับความรู้ต่างๆมากมาย ทั้งในด้านวิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์ ประวัติศาสตร์ และทางด้านศิลปะ รวมทั้งได้รับความรู้เกี่ยวกับภูมิปัญญาของคนสมัยโบราณ ที่ใช้ความรู้ทางด้านดาราศาสตร์ คณิตศาสตร์ ศิลปะ ในการสร้างสรรค์สิ่งก่อสร้างต่างๆ ใช้ชีวิตโดยการพึ่งพาธรรมชาติและศรัทธาในศาสนาในการดำเนินชีวิต ซึ่งเป็นสิ่งที่ล้ำค่าที่เราควรรักษาไว้ และประทับใจในความเป็นล้านนามากๆ”
สำหรับคู่มือครูที่ได้จัดทำนั้น ได้มีการให้ข้อมูลอย่างละเอียดเพื่อให้ครูสามารถนำไปใช้ในการเรียนการสอนได้ทันที โดยมีทั้งจุดประสงค์ของการจัดกิจกรรม วัสดุและอุปกรณ์ที่ใช้(เน้นที่หาได้ง่ายสำหรับครูในทุกพื้นที่) ขั้นตอนการจัดกิจกรรม กิจกรรมต่อยอด ใบความรู้ ใบงาน และเฉลยใบงาน นอกจากคู่มือครูแล้วยังมีไฟล์นำเสนอ(Power Point) วีดีทัศน์แนะนำการทำกิจกรรม และวีดีทัศน์ภาพเคลื่อนไหวสามมิติ โดยเอกสารทั้งหมดนี้ได้นำมาแสดงไว้บนเว็บไซต์ www.atichart.com เพื่อให้ครูดาวน์โหลดไปใช้ได้โดยสะดวกและไม่คิดค่าใช้จ่ายอีกด้วย

 

จากกิจกรรมการเรียนรู้ทั้งหมด ครูสามารถนำไปใช้ในการสอนในชั้นเรียนเพราะกิจกรรมส่วนใหญ่ใช้เวลาเพียง 50 นาที นอกจากนี้ยังสามารถนำไปใช้ในการจัดค่ายคณิตศาสตร์ ค่ายวิทยาศาสตร์ และค่ายโบราณคดี รวมทั้งนำไปใช้ในการทำโครงงานคณิตศาสตร์และโครงงานวิทยาศาสตร์ได้อีกด้วย จากความสำเร็จของโครงการ ดร.อติชาตกล่าวทิ้งท้ายว่า “โครงการนี้อาจจะเป็นโครงการนำร่องให้ครูและองค์กรการปกครองส่วนท้องถิ่นหันมาสนใจการศึกษาในท้องถิ่นมากขึ้น ซึ่งสามารถทำให้เป็นเรื่องที่สนุก ตื่นเต้น ได้ปฏิบัติจริง และได้ความรู้ไปพร้อมกัน และหวังว่าจะมีคนสานต่อเรื่องการสร้างกิจกรรมการเรียนรู้ลักษณะนี้ในท้องถิ่นต่างๆเพิ่มมากขึ้น ผมขอขอบพระคุณ ศ.ดร.มิ่งสรรพ์ ขาวสะอาด ผู้อำนวยการแผนงานสร้างเสริมนโยบายสาธารณะที่ดี ที่ให้การสนับสนุนโครงการนี้ตั้งแต่เริ่มต้นโครงการจนงานสำเร็จเสร็จสิ้นไปได้ด้วยดี”

ตัวอย่างภาพกิจกรรมที่เกี่ยวข้องกับโครงการวิจัย

 

  • ค่ายคณิตศาสตร์และวิทยาศาสตร์แสนสุข (Happy Math & Sci Camp) สำหรับนักเรียนห้องเรียนเสริมทักษะวิทยาศาสตร์และคณิตศาสตร์ ชั้นประถมศึกษาปีที่ 4-6 โรงเรียนอนุบาลพิษณุโลก จังหวัดพิษณุโลก จำนวน 122 คน วันที่ 27 -28 ตุลาคม 2555 ณ สนามกีฬาสมโภช 700 ปีเชียงใหม่ จังหวัดเชียงใหม่

 

การเผยแพร่ผลงานผ่านสื่อมวลชน

(จะมีการนำมาลงประชาสัมพันธ์ต่อไป)

 
 
 
  • สัมภาษณ์เว็บไซต์งานประชาสัมพันธ์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เรื่อง บูรณาการคณิตศาสตร์และวิทยาศาสตร์ล้านนา สู่การเรียนรู้ภูมิปัญญาท้องถิ่น วันที่ 15 กรกฎาคม 2556(เว็บไซต์, ไฟล์ภาพ)
 
  • สัมภาษณ์วิทยุเรื่อง โครงการบูรณาการคณิตศาสตร์และวิทยาศาสตร์ล้านนา – รายการ “เรื่องน่ารู้จากมหาวิทยาลัยเชียงใหม่” สถานีวิทยุเสียงสื่อสารมวลชน FM.100มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ วันที่ 12 กรกฎาคม 2556 [ดาวโหลดไฟล์ MP3 9.6MB]
 
 

 

 

เอกสารแนะนำการจัดกิจกรรมสำหรับครู
กิจกรรมทั้งหมดนี้แม้ว่าในงานวิจัยจะได้เน้นกิจกรรมสำหรับนักเรียนระดับชั้นมัธยมศึกษาตอนต้นในล้านนาหรือพื้นที่ภาคเหนือตอนบน แต่กิจกรรมทั้งหมดยังสามารถใช้ทำกับนักเรียนนักศึกษาระดับชั้นประถมศึกษาถึงมหาวิทยาลัยในพื้นที่อื่นเช่นกัน ทั้งนี้อาจจะปรับการนำเสนอให้เหมาะกับความรู้ ความสามารถ และความสนใจของนักเรียนนักศึกษาที่ร่วมกิจกรรม ทั้งนี้ท่านสามารถนำกิจกรรมไปประยุกต์ใช้ในหลายรูปแบบ เช่น กิจกรรมการเรียนรู้ในห้องเรียน กิจกรรมค่ายวิชาการ และการทำโครงงานวิทยาศาสตร์และคณิตศาสตร์ เป็นต้น

 

คู่มือครู

 

 
  • อติชาต เกตตะพันธุ์, คู่มือครู กิจกรรมบูรณาการคณิตศาสตร์และวิทยาศาสตร์ล้านนา เผยแพร่ครั้งแรกผ่านเว็บไซต์ www.atichart.com เดือนมิถุนายน 2556 – หนังสือนำเสนอกิจกรรมการเรียนการสอนแบบบูรณาการเกี่ยวกับภูมิปัญญาของชาวล้านนา ผ่านองค์ความรู้ทางคณิตศาสตร์และวิทยาศาสตร์ ในหนังสือได้ลงรายละเอียดการจัดกิจกรรมอย่างละเอียดทำให้ครูสามารถจัดกิจกรรมได้เอง ทั้งการนำไปสอนในห้องเรียน การสอนในสถานที่จริง และการจัดค่ายวิชาการ ผู้เขียนอนุญาตให้ครูดาวน์โหลดไปใช้ในการสอนสำหรับในชั้นเรียนของตนเองได้ฟรี แต่ถ้าต้องการนำไปทำในลักษณะอื่น เช่น การพิมพ์เผยแพร่จำนวนมากสำหรับการอบรมหรือการจำหน่าย ท่านต้องติดต่อขออนุญาตผู้เขียนก่อน (ดาวน์โหลดไฟล์ PDF 4 MB)

 

กิจกรรมประวัติศาสตร์ในมิติคณิตศาสตร์

 

ภาพกิจกรรม ชื่อกิจกรรม รายละเอียด
  ความลึกลับของพระธาตุหัวกลับ      กิจกรรมนี้จะได้พานักเรียนไปรู้จักกับปรากฏการณ์พระธาตุหัวกลับ ซึ่งพบในวัดที่มีพระธาตุในหลายอำเภอของจังหวัดลำปาง โดยเราสามารถมองเห็นเงาพระธาตุกลับหัวในห้องที่มืดหรือมีแสงน้อย ทั้งนี้มีคนจำนวนหนึ่งเชื่อว่าปรากฏการณ์นี้เกิดมาจากปาฏิหาริย์ของพระธาตุ นักเรียนจะได้เรียนรู้ผ่านกิจกรรมปฏิบัติการ เพื่อเรียนรู้ว่าวิทยาศาสตร์และคณิตศาสตร์สามารถอธิบายปรากฏการณ์นี้อย่างไร เราสามารถสร้างปรากฏการณ์ภาพหัวกลับได้เองหรือไม่ และภาพที่เราเห็นสามารถช่วยคำนวณหาความสูงของเจดีย์ได้หรือไม่ และยังหลงเหลือปริศนาท้าทายที่ยังรอคอยการพิสูจน์บ้างไหม (ระยะเวลาจัดกิจกรรม 50 นาที) 

      ไฟล์ที่เกี่ยวข้อง:

– ไฟล์นำเสนอเรื่อง “ความลึกลับของพระธาตุหัวกลับ” (ดาวน์โหลด Power Point)

– วีดีทัศน์ของ David Hockney’s Secret Knowledge (ชมผ่าน Youtube ตอนที่ 1, 2, 3, 4, 5, 6, 7, 8)

  คณิตศาสตร์กับการสร้างกำแพงเมืองเชียงใหม่      กิจรรมนี้ได้สร้างขึ้นเพื่อเปิดเผยความมหัศจรรย์ในการสร้างกำแพงเมืองเชียงใหม่ที่เป็นสี่เหลี่ยมมุมฉากขนาดใหญ่ยาวด้านละประมาณ 1,600 เมตรได้อย่างไร โดยไม่ต้องใช้ทฤษฏีบทของพีธากอรัสดังเช่นการสร้างอาคารขนาดใหญ่ของประเทศตะวันตกในยุคเดียวกัน นักเรียนจะได้ชมวีดีทัศน์เคลื่อนไหวสามมิติเพื่อจำลองการสร้างกำแพงเมืองเชียงใหม่ และได้ลงมือทดลองสร้างกำแพงเมืองเชียงใหม่ขนาดเล็กด้วยตนเองในห้องเรียน กิจกรรมนี้ทำให้เราเห็นความสามารถอันน่ามหัศจรรย์ของบรรพบุรุษของเรากว่า 700 ปีที่แล้ว (ระยะเวลาจัดกิจกรรม 50 นาที) 

      ไฟล์ที่เกี่ยวข้อง:

– วีดีทัศน์ที่ 1 “คณิตศาสตร์กับการสร้างกำแพงเมืองเชียงใหม่” (ชม/ดาวน์โหลดไฟล์)
– วีดีทัศน์ที่ 2 “การอธิบายสดการสร้างกำแพงเมืองเชียงใหม่” (ชม / ดาวน์โหลดไฟล์ MPG 79 MB)
– วีดีทัศน์ที่ 3 “การแนะนำนักเรียนในการทำกิจกรรมกลุ่ม” (ชม / ดาวน์โหลดไฟล์ MPG 40 MB)
– ไฟล์นำเสนอเรื่อง “คณิตศาสตร์กับการสร้างกำแพงเมืองเชียงใหม่” (ดาวน์โหลด Power Point)
– บทความ “เสาหลักเมืองแทนทฤษฏีพิทากอรัสได้อย่างไร” โดย รศ.สมัย ยอดอินทร์ (ชม/ดาวน์โหลดไฟล์ PDF)

  ศาสนสถานกับการสร้างปฏิทิน      กิจกรรมนี้สามารถทำให้นักเรียนเข้าใจว่าทำไมเราถึงนิยมสร้างวัดและศาสนสถานอื่นให้หันหน้าไปทางทิศตะวันออก วัดและศาสนสถานอื่นในล้านนารวมถึงในสุวรรณภูมิสัมพันธ์กับการสร้างปฏิทินโบราณอย่างไร นักเรียนจะได้ลงมือปฏิบัติหาค่ามุมของแนวกำแพงวัดและแนววิหารของวัดจากภาพถ่ายทางอากาศ ซึ่งจะทำให้เข้าใจทฤษฏีใหม่ที่อธิบายถึงความสำคัญวัดได้อย่างน่าทึ่ง (ระยะเวลาจัดกิจกรรม 70 นาที) 

      ไฟล์ที่เกี่ยวข้อง:

– ไฟล์นำเสนอเรื่อง “ศาสนสถานกับการสร้างปฏิทิน” (ดาวน์โหลด Power Point)
– วีดีทัศน์ “คณิตศาสตร์กับการสร้างกำแพงเมืองเชียงใหม่” (ชม/ดาวน์โหลดไฟล์)

  นักปักษีวิทยาน้อยไขปริศนานกในอุโมงค์      กิจกรรมนี้น้องนักเรียนจะได้เรียนรู้ว่าเราสามารถนำวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีสมัยใหม่มาช่วยศึกษาทางโบราณคดี ณ วัดอุโมงค์(สวนพุทธธรรม) จังหวัดเชียงใหม่ได้อย่างไร ซึ่งเราจะได้เห็นภาพที่มีสีสันสวยงามและสมจริงของภาพในอุโมงค์เมื่อเริ่มวาดกว่า 500 ปีที่แล้ว รวมถึงการชมวีดีทัศน์ภาพเคลื่อนไหวสามมิติที่ทำให้เราเห็นว่าถ้าเราไปเดินในอุโมงค์สมัยก่อนจะรู้สึกอย่างไร จากนั้นน้องๆ จะได้ฝึกฝนให้เป็นนักปักษีวิทยาน้อย โดยเรียนรู้วิธีการดูนกผ่านการใช้คู่มือดูนก แล้วนำเอาวิธีดูนกมาช่วยไขปริศนาว่าภาพวาดนกหลายชนิดที่พบในจิตรกรรมฝาผนังวัดอุโมงค์เป็นนกชนิดใดเพศใดกันแน่ (ระยะเวลาจัดกิจกรรม 50 นาที) 

      ไฟล์ที่เกี่ยวข้อง:

– ไฟล์นำเสนอเรื่อง “นักปักษีน้อยไขปริศนานกในอุโมงค์” (ดาวน์โหลด Power Point)

– วีดีทัศน์ “จิตรกรรมวัดอุโมงค์อันล้ำค่าแห่งล้านนา” (ชม/ดาวน์โหลดไฟล์)

  แกะรอยจิตรกรรมอย่างมืออาชีพ      กิจกรรมนี้นักเรียนจะได้เรียนรู้เกี่ยวกับสีที่นำมาใช้ในการวาดภาพจิตรกรรมฝาผนัง รวมถึงวิธีการขูดหินปูนออกจากภาพจิตรกรรมฝาผนัง จากนั้นนักเรียนจะได้ทำสิ่งที่นักเรียนรู้สึกประทับใจมาก นั่นคือการนำมีดผ่าตัดมาช่วยในการขูดหินปูน(จำลอง)ออกจากภาพจิตรกรรม(จำลอง) ซึ่งต้องอาศัยทั้งความตั้งใจและฝีมือการขูดที่ประณีต (ระยะเวลาจัดกิจกรรม 50 นาที) 

      ไฟล์ที่เกี่ยวข้อง:

– ไฟล์สำหรับนำไปพิมพ์สีบนกระดาษขนาด A4 (ดาวน์โหลดไฟล์ PDF)
– วีดีทัศน์ “จิตรกรรมวัดอุโมงค์อันล้ำค่าแห่งล้านนา” (ชม/ดาวน์โหลดไฟล์)

 

 

หมายเหตุ

  • ในการเปิดไฟล์นำเสนอ Power Point บนหน้าจอจะมีช่องให้ใส่รหัสผ่านหรือ Password ท่านไม่ต้องใส่รหัสผ่านแต่ให้กดคำว่า “Read Only” ซึ่งทำให้ท่านเปิดใช้ไฟล์ได้ทันที(แต่แก้ไขไฟล์ไม่ได้)
  • ท่านสามารถเปิดวีดีทัศน์ด้วยโปรแกรม VLC Media Player หรือโปรแกรมสำหรับเปิดวีดีทัศน์อื่น
  • หากท่านมีข้อสงสัย ต้องการรับไฟล์คอมพิวเตอร์ที่เกี่ยวข้องในแต่ละกิจกรรม หรือต้องการนำหนังสือคู่มือครูไปตีพิมพ์ซ้ำ โปรดติดต่อ ดร.อติชาต เกตตะพันธุ์ ได้ตามที่อยู่ด้านล่าง

 

ความประทับใจของนักเรียนและครูที่ร่วมโครงการวิจัย

 

จากการจัดกิจกรรมค่ายบูรณาการคณิตศาสตร์และวิทยาศาสตร์ล้านนา วันที่ 22 กุมภาพันธ์ 2555 ณ โรงเรียนสันกำแพง อำเภอสันกำแพง จังหวัดเชียงใหม่

 

“จากที่ได้เข้าร่วมกิจกรรมครั้งนี้ ได้รับความรู้หลากหลายที่ยังไม่เคยทราบและพอได้เรียนรู้อยู่บ้างแล้ว ไม่ว่าจะเป็นการสร้างกำแพงเมืองเชียงใหม่ ได้รู้ความลึกลับของพระธาตุหัวกลับ การสร้างปฏิทินที่สอดคล้องกับศาสนสถาน กิจกรรมนี้ประทับใจมากทั้งวิทยากร ความเหมาะสมในทุกๆเรื่อง ถ้ามีโอกาสอีกก็อยากจะเข้าร่วมกิจกรรมค่ายบูรณาการคณิตศาสตร์กับวิทยาศาสตร์ล้านนาอีกครั้ง”

เด็กหญิง เจนจิรา ตาเจริญเมือง นักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3
“ได้ลองใช้มีดผ่าตัด / ได้รับความรู้เกี่ยวกับสิ่งที่สงสัยในชีวิตประจำวัน/ในภูมิลำเนา เช่น การเกิดภาพเจดีย์หัวกลับ รู้วิธีการสร้างกำแพงเมืองเชียงใหม่ ว่าคนโบราณไม่ได้ล้าหลังเหมือนกับคนในปัจจุบันคิดว่าเป็นอย่างนั้น ซึ่งการสร้างนี้ แสดงถึงการประยุกต์ใช้หลักการ/ทฤษฎีต่างๆ”

เด็กหญิงสบันงา แสงบุตร นักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3

 

“การเข้าค่ายวิชาการในครั้งนี้ ทำให้ได้รับความรู้ต่างๆมากมาย ทั้งในด้านวิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์ ประวัติศาสตร์ และทางด้านศิลปะ รวมทั้งได้รับความรู้เกี่ยวกับภูมิปัญญาของคนสมัยโบราณ ที่ใช้ความรู้ทางด้านดาราศาสตร์ คณิตศาสตร์ ศิลปะ ในการสร้างสรรค์สิ่งก่อสร้างต่างๆ ใช้ชีวิตโดยการพึ่งพาธรรมชาติและศรัทธาในศาสนาในการดำเนินชีวิต ซึ่งเป็นสิ่งที่ล้ำค่าที่เราควรรักษาไว้ และประทับใจในความเป็นล้านนามากๆ”

เด็กหญิง กวิณนา ตาสุรินทร์ นักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 2

 

“ประทับใจที่ได้มาค่ายนี้ เพราะได้ความรู้ที่ไม่เคยรู้มาก่อน เช่น การสร้างกำแพงเมืองเชียงใหม่ ว่ามีหลักการอย่างไร และได้รู้ถึงความมหัศจรรย์ของศาสนสถานกับการสร้างปฏิทิน และชอบการไขปริศนานกวัดอุโมงค์ ที่ได้รู้ถึงการค้นหาศาสนสถานที่ทรงคุณค่าที่สุดในภาคเหนือ ประทับใจมากค่ะ”

เด็กหญิง รัตติการณ์ วงศ์ตุ้ย นักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 2

 

“ประทับใจมากค่ะ ครูพึ่งมาบอกตอนเช้า ก็งงนิดๆว่าทำไมต้องเป็นเราและรู้สึกว่าไม่อยากมาตอนแรก แต่พออาจารย์อติชาต เริ่มอธิบาย บรรยาย เกี่ยวกับความรู้ต่างๆก็เริ่มสนุกขึ้นเรื่อยๆ ยิ่งอาจารย์อติชาต มีเกมความรู้ให้เล่นก็ยิ่งสนุกเข้าไปอีก แต่อยากให้มีการจัดกิจกรรมแบบนี้ที่โรงเรียนสันกำแพงบ่อยๆ”

เด็กหญิงปิยะพร ศรีแสงวณิชวิมล นักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 2

 

“การเข้าค่ายครั้งนี้มีประโยชน์ต่อนักเรียนมากครับ ความรู้ใหม่ๆที่คนรุ่นใหม่ไม่รู้ เช่นว่า การวัดและการทำกำแพงและคูเมืองของเชียงใหม่ วิธีการวัดปรับพื้นของคนในสมัยก่อนและของทางตะวันตก การดูนกต่างๆ และสุดท้ายความลับพระธาตุหัวกลับที่ลำปาง การเข้าค่ายครั้งนี้เป็นการเข้าค่ายนำร่องของทั่วประเทศไทย อยากให้เด็กมัธยมได้รับรู้กันทั้งประเทศ”

เด็กชาย ธนาคาร ธรรมธิ นักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1

 

“ประทับใจในกิจกรรมนักปักษีน้อยไขปริศนานกวัดอุโมงค์เพราะได้เรียนรู้ลักษณะของนก เพศและชนิดของนก”

เด็กหญิง ดวงฤทัย อินก้อนวงศ์ นักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1

 

“การศึกษาการจัดทำเอกสารประกอบการจัดกิจกรรมการเรียนการสอนด้านล้านนาศึกษา โดยการบูรณาการความรู้ คณิตศาสตร์ และวิทยาศาสตร์เข้าด้วยกัน โดยผ่านกระบวนการวิจัยครั้งนี้ เป็นอีกตัวอย่างที่สามารถพิสูจน์ยืนยันได้ว่า กิจกรรมการเรียนรู้ที่ดี สามารถสนับสนุนให้ผู้เรียนเกิดความสนใจ ร่วมมือ และนำไปสู่ผลสำเร็จ นักเรียนเกิดผลสัมฤทธิ์ตามที่ต้องการได้ ดังนั้นการศึกษาครั้งนี้ นักเรียนได้กล่าวถึงสิ่งประทับใจที่เกิดขึ้นจากการร่วมกิจกรรมอยู่ในระดับพอใจมาก ซึ่งกระตุ้นให้นักเรียนสนใจ จัดเป็นประเด็นสำคัญมากประเด็นหนึ่งที่จะสนับสนุนให้นักเรียนเกิดการเรียนรู้ได้ดี อีกทั้งเป็นการยืนยันได้ถึงการใช้กระบวนการทางวิทยาศาสตร์เพื่อศึกษาสิ่งที่อยู่รอบๆ ตัว จะช่วยให้นักเรียน เข้าใจสิ่งต่างๆ รอบตัวอย่างเป็นเหตุเป็นผล”

อาจารย์ณัจยาณี ประวังญาณวัฒน์

การบริการวิชาการ

หากท่านต้องการติดต่อเพื่อใช้บริการทางวิชาการ เช่น การอบรมครู การจัดค่ายสำหรับนักเรียน และการทำวิจัย โปรดติดติดต่อมาที่

                    ดร.อติชาต เกตตะพันธุ์
ภาควิชาคณิตศาสตร์ คณะวิทยาศาสตร์
มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ อ.เมือง จ.เชียงใหม่ 50200
                 โทรศัพท์: 053-943-327 ต่อ 127
                 แฟกซ์:     053-892-280
                   อีเมล์:       kettapun[at]gmail.com