สิ่งที่น่าสนใจในโครงการ

ในปัจจุบันนักเรียนจำนวนมากมีทัศนคติในการเรียนประวัติศาสตร์ว่าเป็นเรื่องที่น่าเบื่อและเน้นท่องจำ ซึ่งมีส่วนทำให้มีความสนใจเรื่องราวทางประวัติศาสตร์ลดลง อย่างไรก็ตามความรู้สึกของนักเรียนได้เปลี่ยนไปหลังจากได้เข้าร่วมกิจกรรมของโครงการประวัติศาสตร์บูรณาการในมิติคณิตศาสตร์

อาจารย์อติชาต เกตตะพันธุ์ หัวหน้าโครงการประวัติศาสตร์บูรณาการในมิติคณิตศาสตร์ และอาจารย์ประจำภาควิชาคณิตศาสตร์ คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ได้อธิบายว่า โครงการนี้เป็นส่วนหนึ่งของโครงการวิจัยและพัฒนาเครือข่ายในพื้นที่เพื่อหนุนเสริมการเรียนรู้รายวิชาประวัติศาสตร์ในระดับชั้นประถมศึกษาปีที่ 4-6 สถานศึกษาในจังหวัดเชียงใหม่ ซึ่งมีรองศาสตราจารย์สมโชติ อ๋องสกุล คณะศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เป็นหัวหน้าโครงการวิจัย โดยได้รับการสนับสนุนจากสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) โดยทางโครงการได้จัดทำกิจกรรมบูรณาการระหว่างวิชาประวัติศาสตร์กับวิชาคณิตศาสตร์ เพื่อช่วยให้ครูระดับชั้นประถมศึกษาปีที่ 4-6 สามารถจัดกิจกรรมที่ได้ทั้งสาระและความสนุกสนาน การเรียนรู้ที่สนุกถือว่าเป็นหัวใจสำคัญที่จะทำให้เด็กรักและสนใจการเรียนประวัติศาสตร์มากยิ่งขึ้น สิ่งที่น่าสนใจมากในโครงการนี้คือ การที่สามารถนำสองศาสตร์ที่ดูไม่น่าจะมีความสัมพันธ์กันมาเชื่อมโยงได้อย่างกลมกลืน และเน้นการออกแบบกิจกรรมให้ครูสามารถนำไปจัดกิจกรรมด้วยตนเองได้โดยง่าย

อาจารย์อติชาตได้กล่าวต่อว่า กิจกรรมในโครงการนี้ทั้งหมดเป็นกิจกรรมที่คิดค้นขึ้นมาใหม่สำหรับโครงการนี้โดยเฉพาะ ทั้งนี้ได้ออกแบบให้ใช้เครื่องมือและอุปกรณ์ที่หาได้ง่าย และมีเอกสารแนะนำวิธีการจัดทำกิจกรรมอย่างละเอียด ทั้งนี้ในเอกสารยังมีใบความรู้เพื่อช่วยอธิบายความรู้ทางคณิตศาสตร์และประวัติศาสตร์ที่เกี่ยวข้อง และใบงานให้ครูนำไปใช้อีกด้วย

กิจกรรมโดดเด่นมากที่สุดกิจกรรมหนึ่งในโครงการฯ คือ “นักเรียนประถมฯ ก็หาความสูงของเจดีย์ได้” กิจกรรมนี้เริ่มด้วยการอธิบายความรู้พื้นฐานทางเรขาคณิตเรื่องสามเหลี่ยมคล้ายและอธิบายถึงวิธีการหาความสูงของเจดีย์โดยใช้ไม้ เชือก ตลับเมตร และเครื่องคิดเลขเท่านั้น เป็นที่น่าตื่นเต้นมากว่านักเรียนกลุ่มตัวอย่างระดับชั้นประถมศึกษาสามารถวัดความสูงของเจดีย์ โดยพบความคลาดเคลื่อนเฉลี่ยประมาณ 5 เปอร์เซ็นต์เท่านั้น นอกจากนี้ครูและนักเรียนจากหลายโรงเรียนได้นำกิจกรรมนี้ไปประยุกต์ใช้ในการวัดเสาธง ตึก และต้นไม้ อีกด้วย

อีกกิจกรรมที่น่าสนใจคือ “แม่น้ำกว้างแค่ไหน แผนที่ทางอากาศบอกเราได้” ซึ่งนำเอาโปรแกรม Google Earth มาช่วยในการเรียนการสอน เพื่อสอนให้นักเรียนคำนวณหาความกว้างของแม่น้ำปิงในปี พ.ศ. 2553 และ พ.ศ. 2545 ณ บริเวณเดียวกัน ซึ่งทำให้นักเรียนเห็นการเปลี่ยนแปลงของน้ำปิงได้อย่างชัดเจน ทั้งนี้ยังนำภาพถ่ายแผนที่ทางอากาศของแม่น้ำปิงปี พ.ศ. 2487 ในบริเวณเดียวกันมาให้ชมด้วย แม้ว่านักเรียนจะไม่ทราบมาตราส่วนแผนที่ของภาพถ่ายนี้ แต่ก็สามารถใช้แผนที่จาก Google Earth ข้างต้นมาช่วยคำนวณหาความกว้างของแม่น้ำในปี พ.ศ. 2487 ได้ด้วยตนเอง จากความเข้าใจนี้ทำให้นักเรียนสามารถศึกษาหาความกว้างยาวของสถานที่ในอดีตและปัจจุบันที่พบใน Google Earth เช่น ความยาวของกำแพงเมืองเชียงใหม่ ขนาดของโรงเรียนตนเองที่เปลี่ยนแปลงไป และความเปลี่ยนแปลงของความกว้างแม่น้ำเจ้าพระยา เป็นต้น

ในเบื้องต้นมีโรงเรียนที่ได้ทดลองนำกิจกรรมในโครงการไปใช้แล้ว ได้แก่ โรงเรียนภายใต้การดูแลของเทศบาลนครเชียงใหม่ สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาเชียงใหม่ เขต 1 และองค์การบริหารส่วนจังหวัดเชียงใหม่ รวมจำนวน 13 โรงเรียน อาทิ โรงเรียนอนุบาลเชียงใหม่ โรงเรียนพุทธิโสภณ และโรงเรียนคำเที่ยงอนุสรณ์ ซึ่งกิจกรรมที่ครูได้นำไปใช้สามารถช่วยให้นักเรียนได้เรียนจากประสบการณ์ตรง ได้เสริมทักษะการคิด การสังเกต การวางแผน การทำงานเป็นทีม และได้รับความสนุกสนานไปพร้อมกัน ทำให้นักเรียนเข้าใจสิ่งที่เรียนได้เป็นอย่างดี กระตืนรือร้นในการเรียน และมองเห็นว่าการเรียนประวัติศาสตร์นั้นแท้จริงแล้วไม่น่าเบื่อแต่สนุกและน่าศึกษาค้นคว้าหาความจริง นอกจากนี้ยังเข้าใจว่าการเรียนคณิตศาสตร์นั้นสามารถเป็นเรื่องที่สนุกและใช้ประโยชน์ในชีวิตจริงได้มาก ดังจะอ่านได้จากความเห็นของครูและนักเรียนที่เข้าร่วมกิจกรรม จากความสำเร็จของโครงการประวัติศาสตร์บูรณาการในมิติคณิตศาสตร์ และโครงการอื่นภายใต้โครงการวิจัยและพัฒนาเครือข่ายฯ จึงมีการวางแผนเพื่อขยายผลออกไปสู่โรงเรียนทั้งภายในและภายนอกจังหวัดเชียงใหม่ให้สามารถนำกิจกรรมไปประยุกต์ใช้ในโรงเรียนได้ต่อไป

ตัวอย่างภาพกิจกรรม

 
 
 
 
 
  • วิทยากรเรื่อง “การบูรณาการคณิตศาสตร์กับวิชาประวัติศาสตร์” ในการประชุมเชิงปฏิบัติการการพัฒนาบุคลากรไปสู่ความเป็นเลิศ กลุ่มสาระวิชาหลักและนวัตกรรมสร้างสรรค์เพื่อรองรับการเรียนสู่สากล ในเนื้อหาเกี่ยวกับวิชาสังคมศึกษา สำหรับครู 94 คนจาก 94 โรงเรียน โดย สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาเชียงใหม่ เขต 1 วันที่ 17 มิถุนายน 2554 ณ โรงแรมฮอลิเดย์ การ์เดน เชียงใหม่
  • Invited Speaker on the topic “Integrated Learning Activities among Science, Mathematics, Art and History for Primary School Students in Chiang Mai” at Science Education Symposium (SES) 2011, June 12-13, 2011, Faculty of Education, Khon Kaen University, Khon Kaen, Thailand.
 
 
  • วิทยากร “โครงการค่ายประวัติศาสตร์บูรณาการในมิติคณิตศาสตร์” สำหรับนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 4-6 ภายใต้โครงการวิจัยและพัฒนาเครือข่ายในพื้นที่เพื่อหนุนเสริมการเรียนรู้รายวิชาประวัติศาสตร์ในระดับชั้นประถมศึกษาปีที่ 4-6 สถานศึกษาในจังหวัดเชียงใหม่ ในชุดโครงการวิจัยและพัฒนาเครือข่ายเชิงพื้นที่เพื่อหนุนเสริมการเรียนรู้ (LLEN: Local Learning Enrichment Network) ของสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย(สกว.) วันที่ 25 สิงหาคม 2553 ณ วัดสวนดอก จ.เชียงใหม่

การเผยแพร่ผลงานผ่านสื่อมวลชน

 
 
  • สัมภาษณ์เรื่อง คณิตคิดใกล้ตัว ในคอลัมภ์ euraka  หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ ฉบับวันที่ 30 เมษายน 2555 ปีที่ 25 ฉบับที่ 8621 หน้า 9
 
  • สัมภาษณ์วิทยุเรื่อง คู่มือครู “การบูรณาการประวัติศาสตร์กับคณิตศาสตร์ – รายการ “เรื่องน่ารู้จากมหาวิทยาลัยเชียงใหม่” สถานีวิทยุเสียงสื่อสารมวลชน FM.100มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ วันที่ 20 กุมภาพันธ์ 2555 และออกอากาศซ้ำวันที่ 16 พฤษภาคม 2555 [ดาวโหลดไฟล์ MP3 10.4MB]
 
  • สารคดีโทรทัศน์ “ประวัติศาสตร์มีชีวิตด้วยคณิตศาสตร์ ตอนถอดรหัสตัวเลขในฤกษ์ก่อสร้าง” จัดทำโดยโทรทัศน์ครู และเผยแพร่ครั้งแรกที่เว็บไซต์โทรทัศน์ครู วันที่ 3กันยายน 2554 [ชมและดาวโหลดวีดีทัศน์]
 
  • สารคดีโทรทัศน์ “ประวัติศาสตร์มีชีวิตด้วยคณิตศาสตร์ ตอนหาความกว้างแม่น้ำปิงด้วย Google Earth” จัดทำโดยโทรทัศน์ครู และเผยแพร่ครั้งแรกที่เว็บไซต์โทรทัศน์ครู วันที่ 3 กรกฎาคม 2554   [ชมและดาวโหลดวีดีทัศน์]
 
  • สารคดีโทรทัศน์ “ประวัติศาสตร์มีชีวิตด้วยคณิตศาสตร์ ตอนวัดความสูงเจดีย์” จัดทำโดยโทรทัศน์ครู และเผยแพร่ครั้งแรกที่เว็บไซต์โทรทัศน์ครู วันที่ 3 กรกฎาคม 2554  [ชมและดาวโหลดวีดีทัศน์]
 
 
  • สัมภาษณ์เรื่อง มช.บูรณาการ ‘คณิต’ ใช้สอน ‘ประวัติศาสตร์’ เด็กประถม ในหนังสือพิมพ์มติชน ฉบับวันที่ 23 เม.ย. 2554 (ภาพสี) และฉบับวันที่ 25 เม.ย. 2554 (ภาพขาวดำ)และในเว็บไซต์หนังสือพิมพ์มติชนรายวันวันที่ 23 เมษายน 2554
 
 
  • สัมภาษณ์ลงเว็บไซต์วิชาการดอทคอม ตามไปดูวัยซน รู้ “ประวัติศาสตร์”ผ่านมุมมอง “คณิตศาสตร์”จากโบราณสถาน1,2  เผยแพร่วันที่ 7 เมษายน 2554
 
 
  • สัมภาษณ์วิทยุ กิจกรรมต่างๆ ของโครงการประวัติศาสตร์บูรณาการในมิติคณิตศาสตร์ในโครงการวิจัยและพัฒนาเครือข่ายในพื้นที่เพื่อหนุนเสริมการเรียนรู้รายวิชาประวัติศาสตร์ในระดับชั้นประถมศึกษาปีที่ 4-6 สถานศึกษาในจังหวัดเชียงใหม่ ผ่าน FM.100 มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ วันที่ 17 มี.ค. 2554 และออกอากาศซ้ำในวันที่  31มี.ค. 2554 [ดาวโหลดไฟล์ MP3 9MB]
 
  • สัมภาษณ์วิทยุ โครงการประวัติศาสตร์บูรณาการในมิติคณิตศาสตร์ในโครงการวิจัยและพัฒนาเครือข่ายในพื้นที่เพื่อหนุนเสริมการเรียนรู้รายวิชาประวัติศาสตร์ในระดับชั้นประถมศึกษาปีที่ 4-6 สถานศึกษาในจังหวัดเชียงใหม่ ผ่าน FM.100 มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ วันที่ 16 มี.ค. 2554 และออกอากาศซ้ำในวันที่  30 มี.ค. 2554 [ดาวโหลดไฟล์ MP3 9MB]
 
  • วีดีทัศน์แนะนำ “การบูรณาการคณิตศาสตร์กับการสอนประวัติศาสตร์ระดับประถมศึกษา” ในโครงการประวัติศาสตร์บูรณาการในมิติคณิตศาสตร์ จัดทำโดย โครงการวิจัยและพัฒนาเครือข่ายในพื้นที่เพื่อหนุนเสริมการเรียนรู้รายวิชาประวัติศาสตร์ในระดับชั้นประถมศึกษาปีที่ 4-6 สถานศึกษาในจังหวัดเชียงใหม่ เผยแพร่ครั้งแรก เดือนธันวาคม 2553 ณเว็บไซต์ LLEN Chiang-Mai [ชมวีดีทัศน์ / ดาวโหลดวีดีทัศน์]

เอกสารแนะนำการจัดกิจกรรมสำหรับครู
กิจกรรมประวัติศาสตร์บูรณาการในมิติคณิตศาสตร์เป็นกิจกรรมที่คิดค้นขึ้นมาใหม่โดยอาจารย์อติชาต เกตตะพันธุ์ ซึ่งมีความยินดีที่จะช่วยให้ครูสามารถนำไปใช้ในการเรียนการสอนในโรงเรียนที่ตนสอนอยู่ แม้ว่ากิจกรรมในช่วงเริ่มต้นโครงการจะถูกออกแบบเพื่อใช้ให้กับโรงเรียนต้นแบบ 13 โรงเรียนที่ร่วมโครงการในระยะแรก แต่โดยแท้จริงแล้วอาจารย์อติชาตได้พยายามออกแบบแต่ละกิจกรรมเพื่อให้โรงเรียนทั่วประเทศสามารถนำออกไปใช้งานได้อย่างกว้างขวางที่สุด ดังนั้นถ้าท่านเข้าใจสิ่งที่ถูกนำเสนอก็จะเห็นว่าท่านสามารถนำกิจกรรมบางอย่างไปใช้ได้โดยตรงหรือไม่ก็เปลี่ยนแปลงอีกเพียงเล็กน้อย ทั้งนี้ท่านสามารถนำกิจกรรมไปใช้ในหลายรูปแบบ เช่น กิจกรรมการสอนในห้องเรียน การจัดทำค่าย การทำโครงงานประวัติศาสตร์ และโครงงานคณิตศาสตร์ เป็นต้น

กิจกรรมประวัติศาสตร์ในมิติคณิตศาสตร์

ภาพกิจกรรม ชื่อกิจกรรม รายละเอียด
  เด็กประถมฯ ก็หาความสูงของเจดีย์ได้ กิจกรรมนี้เป็นกิจกรรมที่นักเรียนชอบมากที่สุดกิจกรรมหนึ่ง ซึ่งเป็นกิจกรรมหาความสูงของเจดีย์โดยใช้ความรู้เรื่องสามเหลี่ยมคล้าย และอุปกรณ์ที่หาได้ง่ายนั่นคือ ไม้ เชือก ตลับเมตร และเครื่องคิดเลข ทั้งนี้เมื่อนักเรียนเข้าใจวิธีการหาความสูงของเจดีย์ ก็สามารถประยุกต์ใช้ในการวัดความสูงของเสาธง ต้นไม้ และตึกได้

ไฟล์ที่เกี่ยวข้อง: เอกสารแนะนำการจัดกิจกรรมในคู่มือครู (ไฟล์ PDF 2 MB), วีดีทัศน์โทรทัศน์ครู (ชม/ดาวโหลดไฟล์), ตัวชี้วัด (ไฟล์ PDF)

  แม่น้ำกว้างแค่ไหน แผนที่ทางอากาศบอกเราได้ กิจรรมมีความโดดเด่น โดยนักเรียนจะทราบวิธีการคำนวณหาความกว้างของแม่น้ำปิงทั้งในอดีตและปัจจุบันได้ด้วยตนเอง และจะทำให้บอกถึงความเปลี่ยนแปลงของแม่น้ำได้อย่างชัดเจน โดยความรู้พื้นฐานคณิตศาสตร์ที่ใช้มีเพียงเรื่องอัตราส่วนในแผนที่เท่านั้น กิจกรรมนี้ยังสามารถนำไปประยุกต์ใช้ในการหาทุกสิ่งในโลกที่แสดงผลใน Google Earth เช่น ขนาดของกำแพงเมืองเชียงใหม่ และความกว้างของแม่น้ำอื่น เป็นต้น สำหรับคุณครูที่ไม่เคยใช้ Google Earth จะมีการติดตั้งโปรแกรมและการใช้งานเบื้องต้นให้ด้วย

ไฟล์ที่เกี่ยวข้อง: เอกสารแนะนำการจัดกิจกรรมในคู่มือครู (ไฟล์ PDF 2 MB), ไฟล์ภาพประกอบกิจกรรม (ไฟล์RAR ต้อง Unzip), ดาวโหลดโปรแกรม Google Earth, วีดีทัศน์โทรทัศน์ครู (ชม/ดาวโหลดไฟล์), ตัวชี้วัด (ไฟล์PDF)

  ถอดรหัสตัวเลขในฤกษ์ก่อสร้าง กิจกรรมนี้จะสอนให้นักเรียนรู้จักดวงฤกษ์ ซึ่งปรากฏในการตั้งเมือง ตั้งวัด หรือสถานที่สำคัญต่างๆ ผู้เรียนได้เข้าใจว่าแท้จริงแล้วตารางที่บรรจุเลขต่างๆ นั้นก็คือแผนที่ดาวนั่นเอง และเลขแต่ละตัวก็หมายถึงดาวต่างๆ เช่น พระอาทิตย์ พระจันทร์ และดาวอังคาร เป็นต้น และความรู้นี้ยังเป็นพื้นฐานในการศึกษาเรื่องโหราศาสตร์สำหรับผู้ที่สนใจได้อีกด้วย กิจกรรมนี้เป็นกิจกรรมที่แปลกใหม่และไม่ซับซ้อน ครูและนักเรียนจึงชอบและตื่นเต้นกับข้อมูลที่ได้รับเพราะส่วนใหญ่จะไม่รู้จักเรื่องที่นำเสนอมาก่อน

ไฟล์ที่เกี่ยวข้อง: เอกสารแนะนำการจัดกิจกรรม (ไฟล์ PDF ปรับปรุงล่าสุด 13 พ.ค. 54), ไฟล์นำเสนอข้อมูล (ไฟล์PowerPoint ปรับปรุงล่าสุด 13 พ.ค. 54), วีดีทัศน์โทรทัศน์ครู (ชม/ดาวโหลดไฟล์), ตัวชี้วัด (ไฟล์ PDF)

  เมื่อสถาปนิกน้อยสำรวจผังวิหารหรืออุโบสถ กิจกรรมนี้เน้นเรื่องการวัดระยะทาง มุม และทิศ ของวิหารและอุโบสถ เด็กจะได้ฝึกการใช้เครื่องวัดต่างๆ ผ่านการปฏิบัติจริง ทำให้เข้าใจเรื่องการใช้ตลับเมตรและเข็มทิศ และยังได้ฝึกหัดการวาดแผนผังของสิ่งที่วัด ครูสามารถอธิบายถึงความแตกต่างของวิหารและอุโบสถจากข้อมูลที่อยู่ในเอกสาร รวมทั้งอธิบายเรื่องการวางทิศอีกด้วย กิจกรรมนี้เป็นกิจกรรมที่นักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 4 ชอบมากเป็นพิเศษเนื่องจากเข้าใจได้ง่าย ทั้งนี้ท่านยังสามารถประยุกต์ใช้ในการวัดและทำทำผังสำหรับสิ่งก่อสร้างอื่นได้อีกด้วย

ไฟล์ที่เกี่ยวข้อง: เอกสารแนะนำการจัดกิจกรรมในคู่มือครู (ไฟล์ PDF 2 MB), ตัวชี้วัด (ไฟล์ PDF)

เอกสารแนะนำ

 
  • อติชาต เกตตะพันธุ์, คู่มือครูการบูรณาการประวัติศาสตร์กับคณิตศาสตร์, กรุงเทพฯ : ลานนา มีเดีย แอนด์ โปรดักชั่น, 2554. – หนังสือนำเสนอกิจกรรมการเรียนการสอนทั้งในและนอกชั้นเรียนสำหรับครูในรายวิชาประวัติศาสตร์และคณิตศาสตร์ อนุญาตให้ครูดาวโหลดไปใช้ในการสอนสำหรับในชั้นเรียนได้ฟรี แต่ถ้าต้องการนำพิมพ์เผยแพร่จำนวนมาก เช่น ใช้ในการอบรม หรือพิมพ์เผยแพร่ ท่านต้องติดต่อขออนุญาตผู้เขียนก่อน (สำหรับไฟล์กิจกรรมที่ปรับปรุงล่าสุดหลัง กรุณาดูได้จากไฟล์ด้านบน) [ไฟล์ PDF 2MB]
 
  • อติชาต เกตตะพันธุ์ และคุณะ, การ์ตูนประวัติศาสตร์ไทยในมิติคณิตศาสตร์, เชียงใหม่ : โครงการวิจัยและพัฒนาเครือข่ายในพื้นที่เพื่อหนุนเสริมการเรียนรู้รายวิชาประวัติศาสตร์ในระดับชั้นประถมศึกษาปีที่ 4-6 สถานศึกษาในจังหวัดเชียงใหม่, 2554. – หนังสือการ์ตูนสำหรับนักเรียน นักศึกษา ครู และผู้สนใจทั่วไปในทุกระดับชั้น โดยนำเสนอความรู้รอบตัวที่น่าสนใจและเป็นประโยชน์ในชีวิตประจำวัน ได้แก่ ปฏิทินไทย ปฏิทินล้านนา ศักราชต่างๆ ในเมืองไทย และมาตราวัดในล้านนา (ลิงค์)

หมายเหตุ

  • เอกสารแนะนำกิจกรรม จะเป็นไฟล์ PDF ที่แนะนำข้อมูลเกี่ยวกับกิจกรรมอย่างละเอียดจนครูสามารถนำไปใช้จัดกิจกรรมได้ด้วยตนเอง ทั้งนี้ยังได้ตีพิมพ์ในคู่มือครูการบูรณาการประวัติศาสตร์และคณิตศาสตร์อีกด้วย ซึ่งแต่ละกิจกรรมประกอบด้วยข้อมูลดังต่อไปนี้ 1) จุดประสงค์ของกิจกรรม 2) วัสดุอุปกรณ์และการแบ่งกลุ่มนักเรียน 3) การจัดกิจกรรม 4) การต่อยอด 5) ผลที่คาดว่าจะได้รับ 6) ใบความรู้7) ใบงาน และ 8) เฉลยใบงาน ในส่วนของใบความรู้จะให้ข้อมูลที่เกี่ยวกับประวัติศาสตร์และคณิตศาสตร์พื้นฐานที่เกี่ยวข้องในแต่ละกิจกรรม แม้ว่าครูส่วนใหญ่ที่นำกิจกรรมไปใช้จะไม่ได้เป็นครูสาขาคณิตศาสตร์แต่ก็สามารถเรียนเนื้อหาคณิตศาสตร์ผ่านใบความรู้ได้โดยง่าย
  • หากท่านมีข้อสงสัย ต้องการรับไฟล์คอมพิวเตอร์ที่เกี่ยวข้องในแต่ละกิจกรรม หรือต้องการนำหนังสือคู่มือครูไปตีพิมพ์ซ้ำ โปรดติดต่อ อาจารย์อติชาต เกตตะพันธุ์ ได้ตามที่อยู่ด้านล่าง

นานาทัศนะจากครูและนักเรียนที่เข้าร่วมโครงการ

ความเห็นจากครูที่เข้าร่วมโครงการจาก 13 โรงเรียนถึงสิ่งที่นักเรียนได้รับ (14 มี.ค. 2554 ณ โรงเรียนอนุบาลเชียงใหม่)

” นักเรียนสนุกสนาน เสริมทักษะการคิด ครูและนักเรียนได้พัฒนาตนเองไปพร้อมๆ กัน ”

” นักเรียนรู้จักนำความรู้คณิตศาสตร์ เรื่องการวัดความยาว ทิศ การคาดคะเน มาบูรณาการใช้กับวิชาประวัติศาสตร์ นักเรียนเรียนรู้อย่างมีความสุข รักและชอบวิชาคณิตศาสตร์และวิชาประวัติศาสตร์มากยิ่งขึ้น ”

” กิจกรรมที่ทำมีผลต่อนักเรียนคือ นักเรียนเรียนรู้ด้วยความสนใจ สนุกสนาน ปฏิบัติได้ด้วยตนเอง มีการจดบันทึก สืบค้น อย่างเป็นระบบ ”
” นักเรียนมีความตื่นตัว/อยากทดลอง และฝึกปฏิบัติจริง มีความสนใจที่จะนำเสนอผลจากการปฏิบัติ สนุกสนาน และมีทัศนคติที่ดีต่อสิ่งรอบตัว/ช่างสังเกต ”
” นักเรียนสนใจในการเรียนคณิตศาสตร์มากขึ้น เพราะได้ปฏิบัติจริง ทำให้สนุก ไม่น่าเบื่อ เกิดจากการเรียนรู้จากประสบการณ์ตรง ”
” ทำให้นักเรียนมีความสนใจด้านคณิตศาสตร์เพิ่มมากขึ้น สนุกสนานกับการทำกิจกรรม ทำให้นักเรียนรู้สึกว่าคณิตศาสตร์เป็นวิชาที่ไม่ได้ยาก ”

” นักเรียนเกิดความสนุกสนาน รู้สึกตื่นเต้นที่จะได้ปฏิบัติจริง หาดวงฤกษ์ได้ นักเรียนชอบการหาดวงฤกษ์ ได้รู้จักฤกษ์ ดาวต่างๆ ในดวงเมือง ”
” ได้นำไปให้นักเรียนเรียนรู้ในรูปแบบของโครงงานคณิตศาสตร์ ”

ความเห็นจากนักเรียนผู้ร่วมกิจกรรมค่าย (23 ก.พ. 2554 ณ โรงเรียนอนุบาลเชียงใหม่)

” กิจกรรมที่ชอบมากที่สุดในค่ายคือ หาความสูงของเจดีย์ เพราะตื่นเต้น สนุก สามารถนำไปใช้ในชีวิตประจำวันได้ … ประทับใจครู สอนรู้เรื่องง่าย และตลก”
” สิ่งที่ประทับใจในค่าย คือ ความรู้ที่ได้รับจากการเรียนครั้งนี้ และความสนุกที่ได้รับจากครู และพวกพี่ๆ ”
” กิจกรรมที่ชอบมากที่สุดในค่ายคือ แม่น้ำกว้างแค่ไหน เพราะต้องใช้ความคิดมากๆ ”

” กิจกรรมที่ชอบมากที่สุดในค่ายคือ กิจกรรมถอดรหัสตัวเลขใจฤกษ์ก่อสร้าง เพราะทำให้รู้เกี่ยวกับราศีต่างๆ ….ครูใจดีมากเลย แล้วได้รับความรู้ที่ไม่เคยรู้มาก่อนแถมยังสนุก ไม่น่าเบื่อ ”

” กิจกรรมที่ชอบมากทีสุดในค่าย คือ กิจกรรมถอดรหัสตัวเลขในฤกษ์ก่อสร้าง เพราะสนุกและสามารถอ่านฤกษ์ต่างๆ ได้ … คุณครูสอนเข้าใจง่าย ”

” สิ่งที่ประทับใจในค่ายคือ ทดลองทำจริง สามารถทำได้ง่ายๆ ”
” ประทับใจในความสนุกสนาน และได้รับความรู้ประวัติศาสตร์ ”
” กิจกรรมที่ชอบมากที่สุดในค่าย คือ หาความสูงเจดีย์ เพราะได้ทำจริง เล่นจริง …. สิ่งที่ประทับใจ คือ ได้ความรู้ใหม่มากมาย ที่ไม่รู้ “