สิ่งที่ท่านจะได้เรียนรู้จากหนังสือเล่มนี้

  • ทำไมมนุษย์จึงต้องมีปฏิทิน
  • ในปีจันทรคติไทย มีการนับวันอย่างไร เดือนหนึ่งมีกี่วัน มีข้างขึ้นกี่วัน มีข้างแรมกี่วัน
  • เราจะคำนวณจำนวนวันในแต่ละปีในปีของปฏิทินจันทรคติไทยได้อย่างไร โดยไม่ต้องท่องจำ
  • ทำไมในปฏิทินจันทรคติไทยถึงต้องมีการเติมเดือน 8 สองหน
  • วันพระคือวันใด
  • ปฏิทินล้านนา ต่างจากปฏิทินจันทรคติไทยอย่างไร
  • ทำไมคนในภาคเหนือจึงไม่เรียกวันลอยกระทงว่า “วันเพ็ญเดือน 12” เหมือนในภาคกลาง แต่กลับเรียกว่า “วันยี่เป็ง” ซึ่งแปลตรงตัวว่า “วันเพ็ญเดือน 2”
  • เราจะมีวิธีการเทียบศักราชที่ต่างกัน เช่น พุทธศักราช คริสต์ศักราช จุลศักราช มหาศักราช และรัตนโกสินทร์ศก อย่างไร
  • ทศวรรษ ศตวรรษ และสหัสวรรษ เขานับอย่างไร และจะนำไปใช้อย่างไร
  • ยิ่ม เยิ่ม กำ กอบ ในมาตราตวงของล้านนาเป็นอย่างไร
  • มารู้จักกับการเทียบหน่วยมาตราวัดในล้านนา เช่น 8 เส้นผม เป็น 1 ไข่เหา  และ 8 ไข่เหา เป็น 1 ตัวเหา เป็นต้นฯลฯ

 

ที่มาของการจัดทำหนังสือ

หนังสือการ์ตูน “ประวัติศาสตร์ไทยในมิติคณิตศาสตร์” เป็นหนังสือที่จัดทำภายใต้ โครงการวิจัยและพัฒนาเครือข่ายหนุนเสริมการเรียนรู้รายวิชาประวัติศาสตร์ในระดับชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 4-6 สถานศึกษาในจังหวัดเชียงใหม่ ซึ่งมรองศาสตราจารย์สมโชติ อ๋องสกุล คณะศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เป็นหัวหน้าโครงการวิจัย โดยได้รับการสนับสนุนจากสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.)

หนังสือเล่มนี้ได้ถูกเผยแพร่อย่างเป็นทางการครั้งแรกในเดือนมกราคม พ.ศ. 2555 โดยแรงจูงใจสำคัญในการจัดทำหนังสือเล่มมาจากการที่ครูสอนประวัติศาสตร์ระดับประถมศึกษามักพบปัญหานักเรียนไม่ค่อยเข้าใจและไม่ค่อยสนใจเนื้อหาประวัติศาสตร์ที่เกี่ยวกับคณิตศาสตร์ คณะผู้จัดทำจึงได้จัดทำการ์ตูนเล่มนี้ขึ้นเพื่อช่วยในการเรียนการสอนประวัติศาสตร์และวิชาคณิตศาสตร์ในระดับประถมศึกษา นอกจากนี้ในการเขียนหนังสือยังได้ออกแบบเพื่อให้สามารถนำไปใช้สอนเสริมในการเรียนการสอนในระดับที่สูงขึ้น ดังเช่น การนำไปใช้สอนในรายวิชาคณิตศาสตร์ในชีวิตประจำวัน (Math100) ณ มหาวิทาลัยเชียงใหม่ เป็นต้น

หนังสือเล่มนี้ยังเหมาะกับผู้อ่านทั่วๆ ไปที่ต้องการศึกษาเนื้อหาที่นำเสนอ ในการเขียนจะมีการผูกเรื่องให้สนุก น่าติดตาม และเข้าใจได้ง่าย เพื่อให้ทุกท่านสามารถเรียนรู้แบบได้ทั้งสาระและความเพลิดเพลินไปพร้อมกัน ในขณะที่จัดทำหนังสือเล่มนี้ก็พบว่ามีบุคคลทั่วไปสนใจอยากศึกษาเรื่องราวที่นำเสนอจำนวนมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งเรื่องราวเกี่ยวกับ ปฏิทินจันทรคติไทย ปฏิทินล้านนา และมาตรวัดในล้านนา ซึ่งไม่ค่อยมีการนำเสนอในรูปแบบของการ์ตูนที่เข้าใจได้ง่าย คณะผู้จัดทำจึงมั่นใจว่าหนังสือการ์ตูนเล่มนี้จะมีประโยชน์ต่อผู้อ่านในวงกว้าง

ในอนาคตหากสามารถจัดหางบประมาณสนับสนุน จะได้มีการปรับปรุงหนังสือเล่มนี้ในรูปแบบสี่สีต่อไป และหากเป็นไปได้คงจะมีงบประมาณเพื่อจัดพิมพ์เผยแพร่ในรูปแบบที่สวยงามผ่านโรงพิมพ์เพื่อเผยแพร่ในวงกว้างต่อไป หากท่านมีข้อติชมเพื่อปรับปรุงหนังสือให้มีคุณภาพมากยิ่งขึ้น อาทิ การสนับสนุนการปรับหนังสือให้เป็นการ์ตูนสี่สี่ หรือต้องการนำหนังสือไปจัดพิมพ์เผยแพร่ทั้งในรูปแบบที่แจกฟรีและแบบที่จัดจำหน่าย กรุณาติดต่ออาจารย์ ดร.อติชาต เกตตะพันธุ์ ได้เสมอที่เบอร์ 053-943327 ต่อ 127 หรืออีเมล์มาที่ kettapun[at]gmail.com

ดาวโหลดหนังสือการ์ตูน

         หนังสือการ์ตูนนี้สามารถใช้ประกอบในการเรียนการสอนทั้งในและนอกชั้นเรียนสำหรับครูในรายวิชาประวัติศาสตร์และคณิตศาสตร์ ผู้เขียนอนุญาตให้ครูสามารถดาวโหลดไฟล์ไปใช้เฉพาะการเรียนสอนของตนเองได้ แต่หากต้องการนำไปจัดพิมพ์เผยแพร่จำนวนมาก ทั้งการพิมพ์แจกฟรี รวมถึงการพิมพ์เพื่อจัดจำหน่าย กรุณาติดต่อผู้เขียนเพื่อขออนุญาตก่อนจะนำนำไปใช้ 

  • ดาวโหลดการ์ตูนขนาดเท่าของจริง โดยเรียงหน้าแบบโรงพิมพ์ [ไฟล์ PDF 68MB] – เวลาพิมพ์ให้พิมพ์บนกระดาษ A4 หน้าหลัง แล้วเย็บสันกลางจะได้การ์ตูนที่เหมือนของจริงที่พิมพ์ผ่านโรงพิมพ์
  • ดาวโหลดการ์ตูนขนาดเท่าของจริง โดยเรียงหน้าตามลำดับ  [ไฟล์ PDF 75MB] – เวลาพิมพ์ให้พิมพ์บนกระดาษ A4 จะพิมพ์หน้าเดียวหรือหน้าหลังก็ได้ จากนั้นให้เย็บด้านซ้าย แล้วเปิดอ่านตามลำดับ แบบนี้เหมาะกับคนที่ไม่สามารถเย็บสันกลางได้
  • ดาวโหลดการ์ตูนขนาดใหญ่กว่าของจริง [ไฟล์ PDF 75MB]  – เวลาพิมพ์ให้พิมพ์บนกระดาษแบบ A4 แบบนี้จะใหญ่กว่าการ์ตูนจริง 2 เท่า แต่จะง่ายในการอ่าน ในการพิมพ์สามารถพิมพ์หน้าเดียวหรือหน้าหลังก็ได้

การเผยแพร่ผลงานผ่านสื่อมวลชน

บทความ-บทสัมภาษณ์ที่ถูกอ้างถึง:

 
  • สัมภาษณ์เรื่อง คณิตคิดใกล้ตัว ในคอลัมภ์ euraka  หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ ฉบับวันที่ 30 เมษายน 2555 ปีที่ 25 ฉบับที่ 8621 หน้า 9
 
  • สัมภาษณ์เรื่อง เรียนสนุกกับการ์ตูน“ประวัติศาสตร์ในมิติคณิต” ในเว็บไซต์หนังสือพิมพ์เดลินิวส์1,2  วันที่ 13 มีนาคม 2555
 
  • สัมภาษณ์เรื่อง idea คณิตศาสตร์ในเรื่องเล่า ในหนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ ฉบับวันที่ 20 กุมภาพันธ์ 2555 ปีที่ 25 ฉบับที่ 8551 (หน้า 9 หรือ หน้า 1 กลาง)
 
 
 
 
 
 
  • สัมภาษณ์เรื่อง อาจารย์ภาควิชาคณิตศาสตร์ คณะวิทย์ฯ ส่งเสริมการเรียนรู้ให้สนุก ด้วยการ์ตูนประวัติศาสตร์ไทยในมิติคณิตศาสตร์ ณ เว็บไซต์มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ วันที่ 8 กุมภาพันธ์ 2555 (ลิงค์เว็บไซต์, PDF)
 

สัมภาษณ์รายการวิทยุ:

 
  • สัมภาษณ์สดทางวิทยุเกี่่ยวกับการ์ตูนประวัติศาสตร์ไทยในมิติคณิตศาสตร์ ผ่านรายการ “New Generation Zone” โดย สถานีวิทยุ NU Radio โดยมหาวิทยาลัยนเรศวร คลื่นความถี่ FM 107.25 MHz  ในวันศุกร์ที่ 7 มีนาคม 2555 ออกอากาศในจังหวัดพิษณุโลกและจังหวัดใกล้เคียง เวลา 21.45-22.00 น. [ดาวโหลดไฟล์ MP3 24.6MB]
 
  • สัมภาษณ์สดทางวิทยุเกี่่ยวกับการ์ตูนประวัติศาสตร์ไทยในมิติคณิตศาสตร์ ผ่านรายการ “เล่าสู่กันฟัง” โดย สถานีวิทยุ Nation Radio คลื่นความถี่ FM 90.5 MHz  ในวันศุกร์ที่24 กุมภาพันธ์ 2555 ออกอากาศในกรุงเทพฯ เวลา 15.45-16.00 น. [ดาวโหลดไฟล์ MP3 21.7MB]
 
  • สัมภาษณ์วิทยุเรื่อง ส่งเสริมการเรียนรู้ให้สนุกด้วยการ์ตูนประวัติศาสตร์ไทยในมิติคณิตศาสตร์ี – รายการ “เรื่องน่ารู้จากมหาวิทยาลัยเชียงใหม่” สถานีวิทยุเสียงสื่อสารมวลชนFM.100 มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ วันที่ 17 กุมภาพันธ์ 2555 และออกอากาศซ้ำวันที่ 5 เมษายน 2555 [ดาวโหลดไฟล์ MP3 9.8MB]
 
  • สัมภาษณ์สดเกี่่ยวกับการ์ตูนประวัติศาสตร์ไทยในมิติคณิตศาสตร์ ผ่านรายการ “ขบวนการล้านความคิด” ณ สถานีวิทยุแห่งประเทศไทย กรมประชาสัมพันธ์ คลื่นความถี่ FM105 MHz คลื่นสีขาวเพื่อเด็กและครอบครัว ในวันอ้งคารที่ 7 กุมภาพันธ์ 2555 เวลา 17.45-18.00 น. [ดาวโหลดไฟล์ MP3 40.4MB]

นานาทัศนะจากผู้ที่ได้อ่านหนังสือการ์ตูน “ประวัติศาสตร์ไทยในมิติคณิตศาสตร์”

นักศึกษารายวิชาคณิตศาสตร์ในชีวิตประจำวัน (MATH100) มหาวิทยาลัยเชียงใหม่

“มีการนำความรู้ที่เกี่ยวกับชีวิตประจำวันและเนื้อหาในบทเรียนมาเป็นส่วนหนึ่งในการเขียนการ์ตูน และนอกจากนี้ยังสร้างความหลากหลายในการ์ตูน เช่น ความน่าตื่นเต้น ความตลก เป็นต้น จึงทำให้การ์ตูนมีความน่าสนใจและน่าประทับใจต่อผู้อ่าน ไม่น่าเบื่อ”
อรนันท์ เครือสบจาง คณะวิจิตรศิลป์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
“หนังสือการ์ตูนเล่มนี้อ่านแล้วได้ความรู้ ความเข้าใจ และความสนุกสนานเพลิดเพลินไปด้วย ทำให้เกิดความประทับใจในการอ่านหนังสือเล่นนี้ จะหยิบมาอ่านกี่ครั้งก็ไม่น่าเบื่อ และยังทำให้เกิดความเข้าใจและจำได้มากยิ่งขึ้น”
เบญจภรณ์ พรมขาว คณะพยาบาลศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่

“หนังสือการ์ตูน “ประวัติศาสตร์ไทยในมิติคณิศาสตร์” มีการสร้างเนื้อหาและตัวละครให้น่าสนใจ ไม่น่าเบื่อ และยังมีความรู้ทางคณิตศาสตร์ เพื่อให้ผู้อ่านเข้าใจได้ง่ายขึ้น และยังมีการใช้ภาษาพูดง่ายๆพร้อมอธิบายสูตรและความรู้เกี่ยวกับศัพท์ที่ใช้ในหนังสือทำให้เข้าใจเนื้อเรื่องได้ง่าย”
รัตติพร ใจบรรทัด คณะมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่

“หนังสือการ์ตูน “ประวัติศาสตร์ไทยในมิติคณิศาสตร์” เป็นการ์ตูนที่ทำให้เข้าใจเรื่องปฏิทินไทย และปฏิทินสากลมากขึ้น เนื้อหาที่เหมือนจะเข้าใจยาก พอนำมาทำเป็นการ์ตูนก็อ่านเข้าใจง่ายขึ้น จำได้มากขึ้น”
สิตานันท์ สุยะลังกา คณะการสื่อสารมวลชน มหาวิทยาลัยเชียงใหม่

“อาจารย์ทำเรื่องที่เข้าใจยาก มาทำให้มันง่าย อ่านแล้วเห็นภาพเลย เช่น มาตรการวัดของล้านนา เห็นภาพมากเลยว่า 8 ไข่เหาเรียงได้ 1 ตัวเหาจริงๆ / เนื้อหามีความสนุกดีค่ะ ตัวการ์ตูนน่ารัก”
กมลรัตน์ กองแก้ว คณะพยาบาลศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่

“ประทับใจเรื่องการนับปีในทางสุริยคติ จันทรคติ และการนับปฏิทินล้านนา ซึ่งปกติจะเห็นส่วนใหญ่พ่อแม่หรือญาติผู้ใหญ่รู้ปฏิทินล้านนา แต่เราไม่รู้ เราจะสงสัยว่าพ่อแม่นับกันอย่างไร เมื่อได้อ่านการ์ตูนเล่มนี้นั้นจึงสามารถนับได้ง่าย”
ผกามาศ จันทร์ต๊ะ คณะวิจิตรศิลป์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่

“เป็นหนังสือที่ทำให้เรื่องน่าเบื่อเป็นเรื่องที่น่าสนใจ อย่างปกติเราจะไม่มีทางอ่านหนังสือเกี่ยวกับปฏิทิน เพราะทำความเข้าใจยาก แต่พอมีหนังสือการ์ตูนทำให้เรื่องยากกลายเป็นเรื่องง่าย มีเนื้อหาน่าติดตาม”
จิรัชยา ดอนกิจภัย คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่

“เป็นหนังสืออีกประเภทหนึ่งที่มีเนื้อหาเข้าใจง่าย ครอบคลุมทั้งเนื้อหาประวัติศาสตร์ และคณิตศาสตร์ อีกทั้งยังมีภาพประกอบที่สวยงาม ทันสมัย ทำให้หนังสือการ์ตูนเล่มนี้มีจุดเด่นและมีประโยชน์ต่อผู้ที่สนใจ และผู้อ่านทั่วไป”
ธนกฤต พลานุวัติการ คณะมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่

“การประยุกต์คณิตศาสตร์ให้อ่านง่ายด้วยการใช้การ์ตูนเป็นสื่อการเรียนรู้ทำให้คณิตศาสตร์มีความน่าสนใจมากขึ้น ทั้งยังให้เห็นภาพของการนำมาใช้ในชีวิตประจำวันได้อย่างชัดเจน”

อัญชลี บุศราคำ คณะศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
“กระผมรู้สึกประทับใจกับหนังสือการ์ตูนเนื่องจากอาจารย์ได้นำบทเรียนทางคณิตศาสตร์ที่มีความยากบ้างบางหัวข้อ มาบูรณาการกับวิชาอื่นๆ(ณ ที่นี้คือประวัติศาสตร์) ซึ่งเมื่อนำมาทำเป็นฉบับการ์ตูนก็ทำให้หัวข้อง่ายขึ้นในการทำความเข้าใจตัวบทเนื้อหาวิชา”
พรพจน์ ดวงมาลา คณะมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
เสียงสะท้อนจากผู้อ่านหนังสือการ์ตูน

“ขอขอบคุณที่อาจารย์ จัดทำหนังสือการ์ตูน ประวัติศาสตร์ไทยในมิติคณิตศาสตร์ ขึ้นพร้อมทั้งเผยแพร่ให้ผู้สนใจได้ศึกษา เรื่องราวต่างๆเกี่ยวกับ ปฏิทินไทยและสากล มาตรการวัดของล้านนา การนับเดือนของล้านนาและไทย เป็นต้น ทำให้สนุก เพลิดเพลินไม่น่าเบื่อ และสามารถนำไปให้เด็กนักเรียนได้เรียนรู้ ครูสามารถบูรณาการการเรียนการสอนกับสาระการเรียนรู้สังคมศึกษา , คณิตศาสตร์ ,ภาษาไทย, ประวัติศาสตร์ได้ เพื่อให้เด็กได้นำไปใช้นำชีวิตประจำวันได้และเกิดความภาคภูมิใจในภูมิปัญญาไทย”
อาจารย์กรรณิการ์ คำดวงดาว
โรงเรียนบ้านเชิงดอย(ดอยสะเก็ดศึกษา ) อ.ดอยสะเก็ด จ.เชียงใหม่
ท่านที่อ่านการ์ตูน สามารถส่งความคิดเห็นของท่านมาลงในเว็บไซต์นี้ได้ โดยโปรดระบุชื่อจริง พร้อมทั้งองค์กรที่ท่านทำงานอยู่

(จะลงข้อมูลนี้เพิ่มเติมต่อไป)

โครงการที่เกี่ยวข้อง

ข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับโครงการที่เกี่ยวข้อง สามารถชมได้จากลิงค์ของแต่ละโครงการ ดังนี้

  1. โครงการประวัติศาสตร์บูรณาการในมิติคณิตศาสตร์
  2. โครงการวิจัยและพัฒนาเครือข่ายในพื้นที่เพื่อหนุนเสริมการเรียนรู้รายวิชาประวัติศาสตร์ในระดับชั้นประถมศึกษาปีที่ 4-6 สถานศึกษาในจังหวัดเชียงใหม่
  3. โครงการประวัติศาสตร์บูรณาการในมิติวิทยาศาสตร์